วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557

วัฒนธรรมตามแบบตะวันตกสมัยรัชกาลที่ 6

รองศาสตราจารย์วีณา เอี่ยมประไพ

              พระราโชบายส่งเสริมวิถีความเป็นตะวันตกในสังคมไทย ซึ่งนับเป็นการวางรากฐานขั้นต้นและได้รับการสืบทอดต่อมาจนปัจจุบัน คือความเป็นสุภาพบุรุษที่ได้รับการนิยามความหมายเช่นเดียวกับชายชาวอังกฤษยุควิคตอเรียน คือ ความสุภาพ  เสียสละ ซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อชาติและพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้มีการจัดตั้งสโมสรเพื่อเป็นพื้นที่ให้ได้มีการพบปะสังสรรค์ เรียนรู้มารยาทอันดีงาม และฝึกการเป็นสุภาพบุรุษซึ่งแสดงถึงลักษณะความเป็นชายที่ได้รับการยอมรับจากสังคม คุณลักษณะความสุภาพบุรุษดังกล่าว เป็นพระราชจริยวัตรในพระองค์ทจนได้รับพระสมัญญานามว่า เจ้าชายวิคตอเรียนแห่งสยาม วัฒนธรรมการเข้าสมาคมคือสิ่งที่พระองค์ทรงได้รับจากการที่ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ ดังนั้นการพบปะกันของสมาชิกในสโมสรเป็นโอกาสได้มีฝึกหลักประพฤติทางสังคมแบบตะวันตก  อีกทั้งยังมีกิจกรรมพักผ่อนตามแบบประเทศตะวันตก ในการจัดตั้งสโมสรแต่ละแห่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้มีการออกวารสารและหนังสือพิมพ์เช่น ทวีปัญญาสโมสร ดุสิตสมิต ดุสิตสมัย ซึ่งพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทความเผยแพร่พระราชดำริและพระบรมราโชวาทในทางปลูกฝังประชาชนให้มีแนวคิดหรือความประพฤติในแนวทางที่พระองค์มีพระราชประสงค์ รวมทั้งการวาดภาพล้อเลียนบุคคลบนพื้นฐานของนักหนังสือพิมพ์


                กิจกรรมการฝึกความเป็นชายตามแนวคิดแบบใหม่ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การฝึกซ้อมรบและการกีฬาของสมาชิกกองเสือป่า โดยจุดมุ่งหมายหนึ่งของการจัดตั้งกองเสือป่าคือ ความสามัคคี เนื่องจากทรงมีพระราชดำริว่าข้าราชการแต่ละหน่วยงานขาดความสามัคคี มีความจงรักภักดีเฉพาะเสนาบดีของตน จึงมีพระราชดำริที่จะให้กิจการเสือป่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาด้วยการให้ข้าราชการแต่ละหน่วยงานมาซ้อมรบร่วมกัน  ผลสำเร็จที่พระองค์ทรงได้รับคือการขจัดความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างข้าราชการต่างระดับ ต่างหน่วยงาน เนื่องจากสมาชิกทุกคนต้องขึ้นตรงต่อผู้บังคับบัญชาชั้นต้นและพระองค์ซึ่งทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีผลให้เกิดความจงรักภักดีและสำนึกแห่งชาตินิยม


การเผยแพร่วัฒนธรรมจากประเทศในยุโรปมายังประเทศไทยทำให้เกิดการปรับตัวเพื่อเลียนแบบความเจริญของศูนย์กลางอำนาจโลก ทั้งด้านวัตถุ ค่านิยม ความเชื่อซึ่งสะท้อนออกทางด้านศิลปะ พฤติกรรมอันเป็นวีถีชีวิตของคน โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้คัดสรรรูปแบบวัฒนธรรมตะวันตกเพื่อดัดแปลงให้เข้ากับสังคมไทย  ดังนั้นเมื่อพระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าลัทธิการปกครองแผนใหม่จากประเทศตะวันตกยังไม่เหมาะกับประเทศไทย เนื่องจากประชาชนยังคงด้อยการศึกษา จึงมิได้ทรงรับมาใช้กับการเมืองการปกครองไทย  อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการศึกษาและการปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น มีผลให้กระแสความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ก่อตัวขึ้นในกลุ่มนายทหารรุ่นหนุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะพรรค ร.ศ. 130 มุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ
                สาเหตุของความเคลื่อนไหวทางการเมืองมาจากความไม่พึงพอใจพระราโชบายการบริหารประเทศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ประเด็นสำคัญคือ แนวคิดว่าหากประเทศปกครองด้วยหลักกฎหมายที่ยุติธรรม ก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เช่นเดียวกับประเทศตะวันตก อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าแนวความคิดเรื่องความเป็นสมัยใหม่มีอิทธิพลต่อชนชั้นกลางของสังคมไทย แต่แตกต่างจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือพระองค์ในฐานะองค์อธิปัตย์ทรงเป็นผู้กำหนดการแสดงออกหรือเส้นทางที่จะมุ่งไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ผ่านทางงานศิลปะ ซึ่งสัมพันธ์กับราชสำนักด้วยลักษณะที่วิจิตรงดงามจากงานช่างที่ต้องใช้ฝีมือขั้นสูง เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์ความเจริญของชาติ ขณะที่สามัญชนกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองด้วยมุ่งหมายลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ สถาปนาระบอบการปกครองเช่นเดียวกับประเทศตะวันตก แม้ว่าการดำเนินงานของกลุ่ม ร.ศ. 130 จะไม่ประสบผลสำเร็จกลายเป็นกลุ่มกบฏ แต่แนวคิดที่จะให้ประเทศไทยมีการปกครองแบบประเทศตะวันตกยังคงสืบเนื่องต่อไปในกลุ่มหัวก้าวหน้า อันเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชกาลต่อมา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น