รองศาสตราจารย์วีณา เอี่ยมประไพ
1) โขน
การแสดงโขนเป็นศิลปะขั้นสูงของไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตทั้งส่วนของพระมหากษัตริย์และประชาชนทั่วไป
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนศิลปะการแสดงโขนด้วยการพระราชนิพนธ์บท
ทรงควบคุมการจัดแสดงและฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง เนื่องจากผู้แสดงล้วนเป็นข้าราชบริพารในพระองค์จึงรู้จักกันในนามโขนสมัครเล่น
ต่อมาเมื่อผู้แสดงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้นเป็นลำดับ
จึงมีชื่อเรียกว่าโขนบรรดาศักดิ์
ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ครั้งยังดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มหาดเล็กในพระองค์ได้รวมตัวกันเล่นโขนเพื่อความสนุกสนาน
พระองค์จึงทรงโปรดฯ ให้ครูโขนละครจากคณะของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์
(หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชรฯ เป็นผู้ฝึกหัด พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าโขนสมัครเล่นสมควรจะแสดงได้ดีกว่าโขนอาชีพ
เนื่องจากมีพื้นฐานการศึกษาที่ดีกว่า โดยเทียบเคียงกับประเทศอังกฤษว่ายกย่องศิลปินให้เป็นขุนนาง
(วรชาติ มีชูบท, 2553 : 41) การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนการแสดงโขน
นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงให้คงอยู่แล้ว
พระองค์ยังได้ทรงใช้ศิลปะการแสดงดังกล่าวในการสอดแทรกพระราโชบายหรือพระราชดำริ
โดยเฉพาะโขนซึ่งใช้วรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เป็นหลักในการแสดง
มุ่งเน้นความสำคัญด้านคุณธรรมและยกย่องพระมหากษัตริย์ที่เปรียบประดุจสมมติเทพ
2) ละคร
อิทธิพลของประเทศตะวันตกที่มีต่อศิลปะของไทยในสมัยรัชการที่
6 ซึ่งเห็นได้อย่างเด่นชัดคือศิลปะการแสดงละคร
โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำแบบอย่างมาเผยแพร่ ทั้งบทละคร
วีธีแสดง การวางตัวละครบนเวที การเปล่งเสียงพูด
พระองค์ทรงมีบทบาททั้งการพระราชนิพนธ์บทละคร ทรงควบคุมการแสดงและทรงแสดงร่วม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความบันเทิงจากสมัยจารีตที่ชนชั้นนำนิยมดนตรีไทยและละครใน บทพระราชนิพนธ์และการจัดแสดงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิใช่เพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น
แต่พระองค์ยังทรงสอดแทรกพระราโชบายที่มุ่งปลูกฝังแก่ประชาชน ดังเช่น เรื่องพระร่วง
นับเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความมีสติปัญญาของพระร่วงต่อการปลดปล่อยดินแดนสุโขทัยให้หลุดพ้นจากอำนาจขอม
ขณะเดียวกันก็แสดงถึงความรักแผ่นดินและความจงรักภักดีต่อผู้นำจากบทของนายมั่นปืนยาว
โดยพระองค์ทรงแสดงในบทบาทดังกล่าวนี้ด้วย
บทละครเรื่องนี้จึงเป็นต้นแบบของละครปลุกใจให้รักชาติ สอดคล้องกับแนวพระราชดำริ
เรื่องชาตินิยมซึ่งเป็นพระราโชบายที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของรัชสมัยนี้ ดังเช่นบทร้องในละครเรื่องพระร่วงตอนหนึ่งที่ว่า
...ข้าเจ้าผู้เป็นไทย จงใจรักและภักดี
ต่อองค์พระทรงศรี สถิตเกล้าเหล่าประชา,
ต่อองค์พระทรงศรี สถิตเกล้าเหล่าประชา,
ขอนั่งพระสมภาร ทุกวันวารขอเป็นข้า,
เต็มใจใฝ่อาสา ต่อสู้หมู่ไพรี...
(พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,2515:127)
ด้วยความเอาพระราชหฤทัยใส่ต่อศิลปะด้านการแสดงโขนละคร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดฯ ให้จัดระเบียบกรมมหรสพที่เคยมีแต่เดิมตั้งแต่รัชกาลที่
5 ใหม่ กล่าวคือ ในอดีตกรมมหรสพมีหน้าที่เกี่ยวกับการละเล่นของหลวง 5 ประเภทคือ
ระเบง โมงครุ่ม กุลาตีไม้ แทงวิสัย และกระอั้วแทงควาย ครั้นถึงรัชกาลที่ 6
ก็ทรงโปรดฯ ให้กรมมหรสพดูแล 4 หน่วยงานคือ กรมโขนหลวง กรมปี่พาทย์หลวง
กรมช่างมหาดเล็ก และกองเครื่องสายฝรั่งหลวง ผู้ที่มีความสามารถด้านการแสดงและได้เข้ารับราชการในกรมมหรสพมักเป็นที่ทรงโปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งเร็วกว่าบุคคลอื่น
ประกอบกับการใช้จ่ายเงินจำนวนเพื่อจัดการแสดงโขนละคร
จึงทำให้เป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งไม่พอใจอันเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดความเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมือง
พระราชกรณียกิจด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นส่วนหนึ่งของบทละคร
จากการที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องประกอบเนื้อเรื่อง ทั้งทำนองเพลงไทยและเพลงสากล นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนและส่งเสริมให้ดนตรีไทยดำรงอยู่และสืบทอดต่อมา
โดยพระองค์ทรงโปรดฯให้มีการสอนและฝึกซ้อมดนตรีไทยควบคู่ไปกับการเรียนการสอนวิชาสามัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น