วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

งานสถาปัตยกรรมนสมัยรัชกาลที่ 6

รองศาสตราจารย์วีณา เอี่ยมประไพ

 
          รูปแบบศิลปะทางสถาปัตยกรรมนับเป็นหลักฐานหนึ่งที่ใช้ในการศึกษาเหตุการณ์ความเป็นไปในอดีต โดยเฉพาะการก่อสร้างศาสนสถานและส่วนที่สัมพันธ์กับสถานบันพระมหากษัตริย์เนื่องจากสอดคล้องกับบริบทสังคมแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นสิ่งก่อสร้างในยุคที่สังคมไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก ความเจริญหรือความทันสมัยจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของของการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยดังกล่าวเป็นช่วงต่อจากการปรับปรุงประเทศไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ตามแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการก่อสร้างอาคารตามแบบตะวันตกหลายแห่ง สะท้อนถึงความนิยมที่มีต่อสถาปัตยกรรมแบบจารีตเริ่มเสื่อมคลายลง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับทรงมีพระราชนิยมศิลปะแบบจารีต  จึงฟื้นฟูสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบดั้งเดิมอีกครั้งหนึ่ง โดยระยะต้นเมื่อแรกเริ่มครองราชย์   งานก่อสร้างมีทั้งแบบตะวันตก ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสถาปัตยกรรมแบบจารีต ซึ่งเคยสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่หมดความนิยมไปในรัชกาลก่อน

          การก่อสร้างพระราชวังสนามจันทร์ ที่จังหวัดนครปฐม มีอาคารสถาปัตยกรรมแบบจารีตที่สมบูรณ์แบบคือพระที่นั่งวัชรีรมยา พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย ลักษณะเด่นของพระที่นั่งทั้งสามคือการสร้างหลังคาเช่นเดียวกับยอดปราสาท ตกแต่งด้วยช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หน้าบันจำหลักลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม  ขณะ เดียวกัน การยอมรับและชื่นชอบในสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เป็นไปอย่างแพร่หลายในสังคม  ดังนั้นแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระราชดำรัสหลาย ครั้งว่าสถาปัตยกรรมตามรูปแบบตะวันตก  ไม่อาจนำไปอวดแก่ชาวต่างประเทศได้  เนื่องจากมิได้แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมไทย (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2550 : 217 ) แต่พระองค์ก็ยังทรงโปรด ฯ ให้สร้างอาคารแบบตะวันตกในพื้นที่พระราชวังสนามจันทร์ด้วย ได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม ซึ่งเป็นอาคารแรกที่ก่อสร้างในเขตพระราชวังสนามจันทร์   พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์  พระตำหนักมาลีรัตนราชบัลลังก์ พระตำหนักทับขวัญ และพระตำหนักทับแก้ว

พระที่นั่งวัชรีรมยา-พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ในอดีต 
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

พระที่นั่งวัชรีรมยา-พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ในปัจจุบัน 
ที่มา : ชนะภพ วัณณโอฬาร ถ่ายเมื่อ 28 ธันวาคม 2556

            นอกจากตำหนักในพระราชวังสนามจันทร์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงโปรดฯ ให้สร้างอาคารแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกหลายแห่ง  เช่นพระราชวังพญาไทเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี  พระพันปีหลวง  กลุ่มอาคารในโรงพยาลจุฬาลงกรณ์ บ้านนรสิงห์ ที่สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) และบ้านบรรมสินธุ์ เพื่อพระราชทานแก่ เจ้าพระยาอนิรุทธิ์เทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ)

บ้านบรรมสินธุ์

ที่มา : 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย,2547

          รูปแบบสถาปัตยกรรมซึ่งแตกต่างจากยุคสมัยที่ผ่านมา และนับเป็นรูปแบบตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การประยุกต์แบบจารีตเข้ากับพื้นที่ใช้สอยแบบอาคารตะวันตก ดังจะเห็นได้จากการสร้างอาคารในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งปัจจุบันคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และตึกบัญชาการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันคือ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาพระฤกษ์
โรงเรียนข้าราชการพลเรือน (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์) เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

          จากพระราชประสงค์ที่จะให้คงความเป็นไทยในงานศิลปะ การออกแบบสถาปัตยกรรมในช่วงเวลาต่อมาของการครองราชย์ จึงเป็นการนำเอาแนวคิดพุทธศิลป์สถาปัตย์ไทยผนวกเข้ากับอาคารเพื่อประโยชน์ด้านการเรียนการสอน ลักษณะเด่นของความเป็นศิลปะไทยคือ หลังคาที่มีทั้งแบบซ้อนสองชั้น   และ แบบลดหลั่นสองระดับ ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง พร้อมหน้าบันจำหลักลวดลายไม้แกะสลัก ปูนปั้นอันประณีต มุ่งเน้นงานฝีมือและเชิงช่าง ลักษณะดังกล่าวเป็นสถาปัตยกรรมพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้า อยู่หัว ที่เรียกว่า สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ มีทั้งในส่วนพระราชวังและสถานศึกษา แต่ที่มิได้ปรากฏในศาสนาสถานเนื่องจากพระองค์ไม่มีพระราชนิยมให้สร้างวัด เพิ่มมากขึ้น แต่ทรงโปรดฯ ให้สร้างสถานศึกษามากกว่า
           การฟื้นฟูสถาปัตยกรรมด้วยการก่อสร้างอาคารรูปแบบศิลปะไทยดังเช่นในอดีต เป็นไปแต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก มิได้รวมถึงคติความเชื่อจักรวาลทัศน์แบบไตรภูมิ การหวนกลับไปสู่สถาปัตยกรรมแบบเดิมหรือการประยุกต์เข้ากับความเป็นตะวันตกเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ประโยชน์ เป็นการนิยามคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ ด้วยต้องการแสดงความเป็นตัวตนว่ามีวัฒนธรรมอันดีงามมาแต่อดีต และเป็นการเน้นความสำคัญเชิงการช่าง ความวิจิตรอ่อนช้อยทางหัตถศิลป์เพื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะของรูปแบบศิลปะไทย  (ชาตรี ประกิตนนทการ,2550: 214)

          เมื่อพิจารณาประเด็นความเป็นสมัยใหม่โดยอ้างอิงกับความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะของประเทศตะวันตก ปรากฏว่าช่วงเวลาเดียวกัน สังคมอังกฤษได้หันกลับไปชื่นชมงานช่างฝีมือและงานศิลปหัตถกรรม อันเป็นการสวนกระแสการผลิตแบบโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลให้คุณค่าของงานศิลปะลดลงจากเดิม ความนิยมต่องานศิลปะแบบดั้งเดิมเป็นไปอย่างกว้างขวางภายหลังการจัดนิทรรศการงานช่างฝีมือและศิลปหัตถกรรม (Arts and Craft  Exhibition) เมื่อ พ.ศ.2531 จึงอาจมีอิทธิพลต่อพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ช่วง พ.ศ. 2436 - 2445 ดังนั้น การผสานศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบจารีตให้เข้ากับความเป็นสมัยใหม่ก็ด้วยการนิยามหรือสร้างความหมายให้แก่งานศิลปะแบบจารีตว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญในอดีตของสังคมไทย จากคุณค่าเชิงฝีมืออันวิจิตรงดงาม



โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยสมัยรัชกาลที่ 6

ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น